วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2561

033Usawadee.กระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ตามแนวคิดของทอร์แรนซ์



กระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ตามแนวคิดของทอร์แรนซ์
ความหมาย
                กระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ตามแนวคิดของทอร์แรนซ์เป็นวิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นลำดับขั้นตอนโดยเริ่มตั้งแต่การหาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจการรู้ปัญหาการหาแนวคิดในการแก้ปัญหาการค้นหาวิธีการแก้ปัญหาและพิสูจน์ตรวจสอบจนเกิดแนวคิดใหม่ในการแก้ปัญหาโดยผู้สอนมีหน้าที่ส่งเสริมกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากรู้อยากเห็นและได้เรียนรู้ด้วยตนเองจนแก้ปัญหาได้ประสบผลสำเร็จอย่างสร้างสรรค์
ทฤษฎี/ แนวคิด
                การพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์โดยการใช้กระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ตามแนวคิดของทอร์แรนซ์เป็นการพัฒนาความคิดขั้นสูงซึ่งต้องมีลำดับขั้นของการพัฒนาตั้งแต่ทักษะการคิดขั้นต่ำสุดที่เป็นการคิดพื้นฐานไปจนถึงการคิดขั้นสูงเพื่อพิจารณาแต่ละขั้นของกระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ตามแนวคิดของทอร์แรนซ์แล้วจะเห็นถึงการพัฒนาทักษะการคิดระดับต่างๆซึ่ง Osborn เสนอว่า การที่บุคคลจะคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับความปลอดภัยทางจิตและบรรยากาศที่สนับสนุนให้คิด และอารี   รังสินันท์ ( 2532: 98) ได้นำเสนอแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ว่าควรมีลักษณะดังนี้
                1. ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง
                 2. ส่งเสริมให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต ช่างซักถาม และตอบคำถาม หรือพยายามค้นหาคำตอบด้วย ความกระตือรือร้น
                 3. ครูสนใจและตั้งใจฟังคำถามแปลกๆใหม่ๆของเด็กและยอมรับความคิดใหม่ๆของเด็ก
                 4. มีการให้กำลังใจ ชมเชยผลงานที่นำมาใช้แล้วเกิดประโยชน์
                 5. ส่งเสริมเด็กที่มีความคิดริเริ่มไม่วิจารณ์ความคิดของเด็ก
                 6. ส่ง เสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง
                 7. กระตุ้นให้เด็กอยากรู้อยากเห็นและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง
                 8. ส่งเสริมให้เด็กประสบผลสำเร็จ
                 9. ขจัดความกลัวและก้าวร้าวของเด็กสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงปลอดภัยให้แก่เด็ก
                ต่อมา Parnes ได้พัฒนากระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์โดยอาศัยแนวคิดของ Osborn ที่มีความสอดคล้องและตรงกับแนวคิดเรื่องกระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ที่ใช้ใช้วงการศึกษาของทอแรนซ์โดยมีกระบวนการ 5 ขั้น  เช่นกันแต่ได้  ปรับการเรียน การสังเกตจนเกิดปัญหา ( New Challenge ) ของทอแรนซ์เป็นการรู้สึกถึงสภาพที่เป็นปัญหา ( sensing problems and Challenge ) ที่ประกอบด้วยสภาพปัญหา (Problem )  โอกาสในการแก้ปัญหา ( Opportunity) และความกล้าในการเสี่ยงเพื่อแก้ปัญหา (Challenge)
                เมื่อนำกระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ตามแนวคิดของทอร์แรนซ์และรูปแบบการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ของ  Parnes ที่เป็นไปตามแนวคิดของทอร์แรนซ์มาพัฒนาโดยการนำการรู้สึกถึงสภาพที่เป็นปัญหามาปรับเป็น  กระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ อีกขั้นหนึ่งที่เรียกว่าขั้นการรู้สึกถึงสภาพที่เป็นปัญหา ( sensing problems and Challenge ) ทำให้กระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ตามแนวคิดของทอร์แรนซ์ประกอบด้วยกระบวนการ 6 ขั้นดังนี้
                 1. การรู้สึกถึงสภาพที่เป็นปัญหา ( sensing problems and Challenge ) มีการสังเกตสิ่งต่างๆรอบตัวมีความตื่นตัวในการแก้ปัญหาอยู่เสมอรู้สึกหรือมองเห็นสภาพปัญหาที่หลากหลายซึ่งต้องการการแก้ไข
                 2. การหาข้อมูลเพื่อทำปัญหาให้กระจ่าง ( fact - finding ) การหาข้อมูลด้วยการตั้งคำถามนำความคิดเพื่อประมวลข้อมูลเพื่อหาสาเหตุของปัญหาหรือข้อเท็จจริงของสิ่งนั้นๆ
                 3. การรู้ปัญหา ( problem finding ) การวิเคราะห์ปัญหาเพื่อให้มองเห็นปัญหาอย่างชัดเจนโดยการจำแนกปัญหาของเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาย่อยเรียงลำดับความสำคัญของปัญหาการเลือกปัญหาที่เห็นว่าสำคัญที่สุดมาแก้ไข
                 4. การสืบหาแนวคิดในการแก้ปัญหา (idea - finding ) การระดมสมองรวบรวมความคิดเพื่อหาคำตอบหรือวิธีแก้ปัญหาที่มีลักษณะแปลกใหม่แตกต่างจากเดิมเสนอแนวคิดหลากหลาย
                 5. การค้นพบวิธีแก้ปัญหา ( Solution finding ) การตัดสินเลือกวิธีการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผลมีความเหมาะสมกับสภาพปัญหามากที่สุดมีความเป็นไปได้
                 6. การยอมรับวิธีแก้ปัญหา ( exceptance - finding )การนำวิธีแก้ปัญหาที่ตัดสินใจเลือกไว้อย่างมีเหตุผลมาปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอนในการแก้ปัญหาเพื่อพิสูจน์ว่าวิธีการแก้ปัญหาที่เลือกสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้ผลจริง
แนวทางการจัดการเรียนรู้
                การจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนต้องคำนึงถึงหลายๆด้านทั้งด้านตัวเด็ก ด้านของเนื้อหาที่จะสอน ครูผู้สอน และความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย Torrance ได้นำเสนอกระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ออกเป็นขั้นตอนดังนี้
                1.การหาข้อมูลเพื่อทำปัญหาให้กระจ่าง ( fact - finding )
                2.การรู้ปัญหา ( problem finding )
                3.การสืบหาแนวคิดในการแก้ปัญหา (idea - finding )
                4.การค้นพบวิธีแก้ปัญหา ( Solution - finding ) 
                5.การยอมรับวิธีแก้ปัญหา ( exceptance - finding ) แล้วจึงนำไปสู่การค้นพบที่จะทำให้เกิดแนวคิดใหม่หรือสิ่งใหม่ต่อไปที่เรียกว่า New Challenge ดังภาพที่ 8


ภาพที่ 8 กระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ของ Torrance

ข้อค้นพบจากการวิจัย
จากการจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ตามแนวคิดของทอร์แรนซ์มีข้อค้นพบดังนี้
                1. ความคิดสร้างสรรค์ หงส์สุนีย์  เอื้อรัตนรักษา ( 2536 ) วิจัยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ด้วยการใช้ชุดการฝึกการคิดแก้ปัญหาตามแนวคิดของทอร์แรนซ์แล้วทดสอบความคิดสร้างสรรค์ด้วยแบบวัดความคิดสร้างสรรค์แบบ ก ของทอแรนซ์พบว่านักเรียนมีคะแนนความคิดสร้างสรรค์หลังการทดลองเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
                2.ความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ ศศิรัตน์ สริกขกานนท์ ( 2540 ) วิจัยเพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยการใช้กระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ตามแนวคิดของทอร์แรนซ์พบว่าความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ที่เพิ่มขึ้นของนักเรียนกลุ่มทดลองสูงกว่านักเรียนที่ได้รับการสอนตามปกติอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.1
                สรุป ได้ว่านวัตกรรมที่เป็นแนวคิดรูปแบบและกระบวนการจัดการเรียนรู้มีกระบวนการและจุดเน้นในการนำไปแก้ปัญหาการเรียนการสอนแตกต่างกันดังผลการวิจัยที่พบในแต่ละนวัตกรรมดังนั้นผู้สนใจนำแต่ละนวัตกรรมไปแก้ปัญหาหรือพัฒนาผู้เรียนจึงควร พิจารณาเลือกนวัตกรรมที่เหมาะสมกับปัญหาในการจัดการเรียนการสอนของตนเองเพื่อให้นวัตกรรมนั้นได้ช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนาผู้เรียนได้จริงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์    ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1/1    หน่วยการเรียนรู้ที่ 1
แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1    จัดการเรียนรู้ วันที่ 2 พฤศจิกายน  2552 เวลา 08.30 น. - 09.30 น.
 
มาตรฐานการเรียนรู้
มาตรฐาน ค 1.1 : เข้าใจถึงความหลากหลายของการแสดงจำนวน    และการใช้จำนวนในชีวิตจริง

ตัวชี้วัดชั้นปี
          1.อ่านและเขียนตัวเลขฮินดูอารบิกและตัวเลขไทย แสดงปริมาณของสิ่งของหรือจำนวนนับที่ไม่เกินหนึ่งร้อยและศูนย์

สาระสำคัญ
          ตัวเลขฮินดูอารบิกและตัวเลขไทยเป็นจำนวนนับและสัญลักษณ์แสดงจำนวนต่าง ๆ การอ่านและเขียนตัวเลขฮินดูอารบิกและตัวเลขไทยต้องอ่านให้ถูกต้องและต้องสามารถแสดงปริมาณของสิ่งของต่าง ๆ ได้ตรงกับตัวเลขฮินดูอารบิกและตัวเลขไทยที่กำหนดไว้

จุดประสงค์การเรียนรู้
          1.หลังจากจบบทเรียนแล้ว นักเรียนสามารถอ่านและเขียนตัวเลขฮินดู  อารบิกและตัวเลขไทยได้อย่างถูกต้อง
          2.หลังจากจบบทเรียนแล้ว นักเรียนสามารถแสดงปริมาณของสิ่งของหรือจำนวนนับที่ไม่เกินหนึ่งร้อยและศูนย์ได้อย่างถูกต้อง ร้อยละ 80

สาระการเรียนรู้
          1.การอ่านและเขียนตัวเลขฮินดูอารบิกและตัวเลขไทย
          2.การแสดงปริมาณของสิ่งของหรือจำนวนนับที่ไม่เกินหนึ่งร้อยและศูนย์

กระบวนการจัดการเรียนรู้
          ขั้นนำ/เตรียมความพร้อม
          1.การหาข้อมูลเพื่อทำปัญหาให้กระจ่าง ( fact - finding )
          - ให้นักเรียนร้องเพลงเกี่ยวกับจำนวนนับ แล้วให้หาสิ่งของให้มีจำนวนเท่ากับที่เนื้อเพลงกำหนด
          - ให้นักเรียนนับ 1 - 100 พร้อม ๆ กัน
          ขั้นจัดการเรียนรู้
          2.การรู้ปัญหา ( problem finding )
          - ให้นักเรียนดูสิ่งของที่มีจำนวนต่างๆแล้วให้ช่วยกันบอกว่า   มีจำนวนเท่าไร
          - ให้นักเรียนดูภาพสิ่งของจำนวนต่างๆแล้วให้ช่วยกันบอกว่า มีจำนวนเท่าไร
          3.การสืบหาแนวคิดในการแก้ปัญหา (idea - finding )
          - ให้นักเรียนดูภาพสิ่งของ 1 ชิ้น ให้นักเรียนบอกว่ามีจำนวนเท่าไร  เมื่อนักเรียนบอกว่า 1 ครูเขียนเลข 1 และ ๑ ลงใกล้ ๆ กับภาพนั้น ให้นักเรียนอ่านว่า หนึ่ง แล้วให้ทุกคนฝึกเขียนเลข 1 และ ๑ และวาดภาพแสดงจำนวนไว้ด้วย ทำเช่นนี้ไปถึงเลข 9 และ ๙
          - ครูไม่หยิบสิ่งของอะไรเลย ยกมือเปล่า ๆ ให้นักเรียนดู ถามว่ามีของในมือครูเท่าไร นักเรียนตอบว่า 0 ครูเขียนเลข ๐ และ 0ให้นักเรียนอ่านว่า ศูนย์แล้วให้ทุกคนฝึกเขียนเลข ๐ และ 0
          4.การค้นพบวิธีแก้ปัญหา ( Solution - finding )
          - ให้นักเรียนฝึกนับ 1 - 100 และฝึกเขียนตัวเลขฮินดูอารบิกและตัวเลขไทย
          ขั้นสรุป
             5.การยอมรับวิธีแก้ปัญหา ( exceptance - finding )
              - ให้นักเรียนเติมตัวเลขจำนวนนับ 1 - 100 ที่หายไปทั้งตัวเลขฮินดู  อารบิกและตัวเลขไทย
              - ให้นักเรียนช่วยกันตรวจความถูกต้องของตัวเลขที่นำมาเติม
สื่อและแหล่งเรียนรู้
          1.สิ่งของต่าง ๆ
          2.แผนภูมิตัวเลขฮินดูอารบิกและตัวเลขไทย
          3.รูปภาพจำนวนต่าง ๆ สำหรับใช้ฝึก
          4.แผนภูมิตัวเลขฮินดูอารบิกและตัวเลขไทยจำนวนนับ 1–100 ที่มีช่องที่หายไปสำหรับให้นักเรียนเติม

การวัดและการประเมินผล
          วิธีวัดผล
          1.อ่านและเขียนตัวเลขฮินดูอารบิกและตัวเลขไทย
          2.ทดสอบการแสดงปริมาณของสิ่งของหรือจำนวนนับที่ไม่เกินหนึ่งร้อยและศูนย์
          เครื่องมือวัดผล
          1.แบบทดสอบการอ่านและเขียนตัวเลขฮินดูอารบิกและตัวเลขไทย
          2.แบบทดสอบการแสดงปริมาณของสิ่งของหรือจำนวนนับที่ไม่เกินหนึ่งร้อยและศูนย์
          เกณฑ์การประเมิน
          1.นักเรียนสามารถอ่านและเขียนตัวเลขฮินดูอารบิกและตัวเลขไทยได้อย่างถูกต้อง
          2.นักเรียนสามารถแสดงปริมาณของสิ่งของหรือจำนวนนับที่ไม่เกินหนึ่งร้อยและศูนย์ได้อย่างถูกต้อง ร้อยละ 80 ถือว่าผ่านการประเมิน

บันทึกผลการจัดการเรียนรู้
          ให้บันทึกเกี่ยวกับตัวผู้เรียนว่าเป็นอย่างไร การจัดการเรียนรู้บรรลุตามจุดประสงค์การเรียนรู้หรือไม่ การวัดและประเมินผลเป็นอย่างไร ในการจัดการเรียนรู้มีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง จะปรับปรุงการจัดการเรียนรู้อย่างไร ข้อสังเกตที่พบในขณะที่จัดการเรียนรู้และอื่นๆ ที่ครูเห็นว่ามีประโยชน์หลังจากการจัดการเรียนรู้

ภาคผนวก
          1.แผนภูมิตัวเลขฮินดูอารบิกและตัวเลขไทย
          2.รูปภาพจำนวนต่าง ๆ สำหรับใช้ฝึก
          3.แผนภูมิตัวเลขฮินดูอารบิกและตัวเลขไทยจำนวนนับ 1-100 ที่มีช่องที่หายไปสำหรับให้นักเรียนเติม

          4.แบบฝึกต่าง ๆ

อ้างอิง
ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์.(2552).80 นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ.กรุงเทพฯ : แดเน็กซ์    
        อินเตอร์คอร์ปอเรชั่น.






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

033Usawadee.การจัดการเรียนรู้

การจัดการเรียนรู้ 1. การจัดการเรียนรู้แบบคอนสตรัคติวิซึม ( Constructivism ) 2. การจัดการเรียนรู้ตามสภาพจริง ( Authentic Instruction ) ...